ฟาร์มบางเบิด
ศูนย์วิจัยหม่อมเจ้าสิทธิพรกฤดากร พระบิดาแห่งการเกษตรไทย
“ฟาร์มบางเบิด” เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2463 ณ ไร่บางเบิด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมีหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร พร้อมกับศรีภรรยาและลูกน้อยอีก 2 คน เป็นผู้ก่อตั้งขึ้น หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากรทรงค้นคว้าความรู้ด้านช่างและเกษตรกรรม ทรงเห็นว่าเกษตรกรรมที่พึ่งพืชเพียงอย่างเดียว คือ ข้าว นั้นย่อมได้ประโยชน์จากการใช้ที่ดินไม่สมบูรณ์ และทรงพิสูจน์ว่าพืชอื่นๆ ก็สามารถปลูกให้ได้ผลดีในประเทศเราเหมือนกัน โดยเฉพาะในที่ดอน โดยปลูกพืชหลายชนิดในลักษณะการเกษตรผสมผสาน มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ทั้งด้านการปรับปรุงดิน การเลือกชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ การคัดพันธุ์ ผสมพันธุ์ การบำรุงรักษาพืชที่ปลูกและสัตว์ที่เลี้ยง การให้ปุ๋ย การใช้ยากำจัดศัตรูพืช
( หม่อมเจ้าสิทธิพรกฤดากร )
ฟาร์มบางเบิดจึงเป็นฟาร์มแห่งแรกในประเทศไทยที่ปลูกพืชคลุมต่างๆ ด้วยการปลูกหมุนเวียนในที่ดินแห่งเดียวต่างกับปลูกพืชดอนในสมัยนั้น ซึ่งส่วนมากปลูกในไร่เลื่อนลอย และเป็นแห่งแรกที่ได้ทำการอนุรักษ์ดินไม่ให้หน้าดินถูกชะล้างไป โดยการปลูกต้นมะพร้าวไว้ตามขอบแปลงเป็นแถวยาวโค้งไปตามความสูงต่ำของระดับพื้นดิน เป็นการเริ่มงานอนุรักษ์ดินที่แท้จริง เป็นแห่งแรกที่ได้ส่งพันธุ์ปศุสัตว์โดยเฉพาะไก่กับสุกรมาเลี้ยงเป็นการค้า สำหรับไก่ที่เลี้ยงเป็นพันธุ์เล็กฮอร์นขาว หงอนแดง โดยเลี้ยงเป็นผูงใหญ่เพื่อจำหน่ายไข่ โดยส่งจำหน่ายในตลาดกรุงเทพฯ สำหรับหมูเป็นหมูพันธุ์ยอร์คเชีย ตัวย่อมกะทัดรัด โดยส่งจำหน่ายในตลาดปีนัง และยังเลี้ยงวัวนมที่มีน้ำนมดีสำหรับรีดเลี้ยงบุตร เป็นแห่งแรกที่ได้นำพันธุ์แตงโมจากสหรัฐอเมริกาพันธุ์ Tom Watson และพันธุ์ Klondike มาปลูกจำหน่ายจนมีชื่อเสียงเป็นพันธุ์ที่รู้จักกันดีในนามของ “แตงโมบางเบิด” แตงโมที่ผลิตได้จะจำหน่ายในตลาดกรุงเทพฯ และปีนัง โดยการใช้เกวียนหลายๆ เล่มขนส่ง
( แตงโมบางเบิด )
และฟาร์มบางเบิดยังเป็นแห่งแรกที่ได้ทดลองผลิตยาสูบพันธุ์เวอร์จิเนียที่บ่มด้วยความร้อน ถั่วลิสงที่ปลูกในฟาร์มเป็นก็เป็นถั่วชนิดฝักป้อมใช้ปลูกด้วยเครื่องจักรและเข้าเครื่องสำหรับกะเทาะเปลือกได้สะดวกดี ข้าวโพดที่ปลูกเป็นพันธุ์ที่ส่งมาจากต่างประเทศใช้เมล็ดเลี้ยงสัตว์และตัดต้นลงดินเป็นปุ๋ยพืชสดเพื่อบำรุงดินให้อุดมสมบูรณ์สำหรับพืชอื่นๆ ต่อไป คนงานเป็นพวกชาวบ้านป่าแถบนั้นเอง ในระหว่างเขตของฟาร์มบางเบิดกับฟาร์มของเจ้าคุณพิพัทธกุลพงษ์มีห้วยน้ำไหลผ่านไปลงทะเล น้ำในห้วยใสสะอาดจืดสนิทใช้บริโภคได้ และใช้น้ำในห้วยนี้สำหรับการเกษตรในฟาร์ม ซึ่งนับได้ว่าเป็นแห่งแรกที่ทำการปลูกพืชไร่และสัตว์เลี้ยงทำนองวิธีการที่เรียกกันว่า “ไร่นาผสม”
พระองค์ทรงนำเครื่องทุ่นแรง คือ เครื่องจักรเครื่องมือเข้าใช้ ในที่ๆ วัวควายทำไม่ได้ ซึ่งการนำเครื่องทุ่นแรง เช่น รถแทรกเตอร์ในสมัยนั้นหย่อนคุณภาพ ค่าใช้จ่าย และค่าสึกหรอแพงมาก พระองค์จึงทรงใช้ทั้งวิทยาการสมัยใหม่ร่วมกับภูมิปัญญาพื้นบ้านได้อย่างเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ อีกทั้งจัดให้มีการจัดระบบการเก็บสถิติการทดลอง การบันทึกค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการฟาร์ม ซึ่งเป็นการควบคุมต้นทุนการผลิต
พระองค์ทรงสนพระทัยเข้าคลุกคลีทำการทดลองวิจัยค้นคว้าหาข้อบกพร่อง และปรับปรุงจากการที่ทรงปฏิบัติจริงด้วยพระองค์เอง เมื่อปรากฎว่าได้ผลดีก็ได้นิพนธ์บทความชี้แจงถึงวิธีปฏิบัติการพร้อมด้วยสถิติตัวเลขประกอบ เพื่อเป็นวิทยาการเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ให้แก่เกษตรกรอื่นๆ ได้ทราบและปฏิบัติตาม จึงเป็นแนวความคิดให้เกิด “หนังสือพิมพ์กสิกร” โดยมีความมุ่งหมายเพื่อเผยแพร่วิชาชีพทางประกอบกสิกรรมและเป็นสื่อนำความคิดเห็นในด้านนโยบายส่งเสริมการเกษตรของนักวิชาการเกษตรไปสู่ความรู้สึกนึกคิดของผู้ใหญ่ฝ่ายปกครองตลอดจนกระทั่งถึงพระเจ้าแผ่นดิน
ในช่วงบั้นปลายแห่งชีวิต ท่านสิทธิพรทั้งชราและยากจนลงมากเกินกว่าจะดูแลรักษาไร่บางเบิดซึ่งมีขนาดใหญ่ถึง 250 ไร่ ให้มีสภาพคงเดิมได้ ท่านจึงตัดสินใจขายไร่บางเบิดให้กับรัฐบาลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และท่านนำเงินที่มีอยู่จาการขายไร่นี้ไปซื้อที่ดินแปลงเล็กๆ ที่หัวหินเพื่อทำการทดลองการเกษตรต่อไป
( คลิกที่ปกหนังสือเพื่อเปิดหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ )
ปัจจุบันฟาร์มบางเบิดที่เคยรุ่งเรืองได้กลายเป็นสถานีวิจัยสิทธิพรกฤดากร หน่วยงานในสังกัดสถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบเกษตรในเขตวิกฤต โดยมีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้รับผิดชอบ ได้วางแผนริเริ่มดำเนินการบนพื้นที่เดิมซึ่งเป็นฟาร์มบางเบิด บนเนื้อที่ 385 ไร่ 3 งาน 74 ตารางวา โดยความร่วมมือของทุกฝ่าย มีนโยบายที่สำคัญนอกเหนืองานวิจัย คือโครงการจัดสร้างอนุสรณ์สถานและอนุรักษ์ผลงานของหม่อมเจ้าสิทธิพรเพื่อระลึกถึงผลงานและกิจกรรมของพระองค์ท่านที่เป็นคุณประโยชน์ต่อประเทศไทย เนื่องจากก่อนหน้านี้พื้นที่ดังกล่าวตกเป็นของที่ราชพัสดุและได้ยกให้เกษตรกรเช่าใช้ประโยชน์ ทำให้สภาพและร่องรอยดั้งเดิมของฟาร์มบางเบิดสูญหายไปอย่างน่าเสียดาย และขณะนี้กำลังจะบูรณะรื้อฟื้นของเก่าให้กลับมาอีกครั้งหนึ่ง
ฟาร์มดอกทานตะวัน