ReadyPlanet.com
ทำไมถึงห้ามให้อาหารปลาในแนวปะการัง

บทความพิเศษ

รู้และเข้าใจธรรมชาติของสัตว์และระบบนิเวศในเขตแนวปะการัง

หัวข้อ ทำไมถึงห้ามให้อาหารปลาในแนวปะการัง

   ปัจจุบัน อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวดำน้ำชมปะการังเจริญเติมโตขึ้นเป็นอย่างมาก สามารถสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการท่องเที่ยวได้ปีละหลายล้านบาท แต่เมื่อมีข้อดีก็ต้องมีข้อเสียตามมา ผลพวงของการที่มีนักท่องเที่ยวมาดำน้ำชมปะการังเยอะ ก็ย่อมเกิดความเสื่อมโทรมของแนวปะการังเป็นธรรมดา สัตว์ทะเลทั้งหลายรวมถึงสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ต่างอยู่อาศัยอย่างเกื้อกูลกัน ภายใต้พื้นสมุทร มาเป็นเวลาช้านาน นับ ล้านล้านปี ค่อยๆมีการปรับตัวและช่วยเหลือเกื้อกูลกันเองตามระบบนิเวศ โดยที่ไม่มีมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งในการ แทรกแซงให้อาหาร แต่พวกเขาเหล่านั้น ก็สามารถหาอาหาร และดำรงชีวิตอยู่ได้ ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา แต่เมื่อไม่นานมานี้ การท่องเที่ยวเริ่มพัฒนาเข้ามาถึงแนวปะการัง มนุษย์เริ่มต้องการมองหาสิ่งแปลกใหม่ และโลกที่แตกต่างจากโลกบนพื้นดิน ผู้คนจำนวนมากจึงหันหังให้กับความวุ่นวายของชุมชนเมือง และหันหน้าเข้าหาธรรมชาติมากขึ้น และบางส่วนก็เลือกที่จะมุดลงใต้น้ำ เพื่อผ่อนคลายและปลดปล่อยความเครียดไปกับสายน้ำ ปะการัง ปลาสวยงาม และสัตว์ทะเลน้อยใหญ่ จนเมื่อสิ่งที่เห็นก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของมนุษย์ เพราะมนุษย์นั้นขึ้นชื่อเรื่องความไม่รู้จักพอ อยากจะเห็นปลาเยอะๆ ก็เลยมีการให้อาหารปลาเกิดขึ้นนั้น ปลาที่เคยหาอาหารกินเองและคอยทำความสะอาดปะการังก็จะเสียนิสัยไม่ยอมหากินเอง แต่จะคอยอาหารจากนักท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว ทำให้ระบบนิเวศ และสมดุลทางธรรมชาติ เกิดความเสื่อโทรมลง

   ปลาส่วนมาก ที่มา กินขนมปัง จะเป็นปลาในตระกูลสลิดหินเป็นส่วนมาก จะมีปลากระบอก ปลาศรีกุลเกาะ ปลานกขุนทอง และข้างปลาเหลืองมาร่วมวงด้วยแต่ก็น้อยมากๆ เพราะปลาสลิดหินนั้นถึงจะเป็นปลาเล็ก แต่มีความดุร้าย ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่และหวงถิ่นที่อยู่ของตัวอย่างมาก แต่นักท่องเที่ยวก็ไม่ได้ทราบว่ามันเป็นตัวร้าย เพราะความที่มันตัวเล็ก มีสีสันสดใส ทำให้แลดูเป็นปลาที่น่ารัก มาหยอกล้อกับนักท่องเที่ยวอยู่เสมอๆ แต่แท้ที่จริงแล้ว เป็นปลาที่อันตรายต่อปลาชนิดอื่น เจ้าสลิดหินไม่ว่าจะไปอาศัยอยู่ที่ไหน ก็จะไล่ปลาอื่น ๆ ออกจากบริเวณนั้นปลาที่ควรจะอยู่ในระบบนิเวศน์ของที่นั้น แม้กระทั่งปลาที่มีขนาดใหญ่กว่ามันหลายเท่าตัวนัก ออกไปจากถิ่นทำกิน เนื่องจากปริมาณปลานักเลงฝูงนี้ มีขนาดใหญ่เหลือเกิน บางฝูงอาจจะเป็นร้อยๆตัวเลยทีเดียว ฉายาอีกอย่างหนึ่งของมัน จึงมีชื่อเรียกว่า ปลาหน้าด้าน มากันจำนวนมากมายมหาศาล ในที่สุดปลาขี้อายอย่าง ปลาผีเสื้อ ปลาสินสมุทร ก็จะลดจำนวนลง เพราะต้องย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่น สุดท้ายระบบระบบนิเวศน์บริเวณนั้นก็จะถูกทำลาย และเมื่อเราดำน้ำก็จะไม่พบเห็นปลาเหล่านี้อีกเลย อีกทั้งสาหร่ายและสิ่งมีชีวิตอื่นๆก็จะเข้าปกคลุมแนวปะการัง และปลาสลิดหินก็จะไม่ทำความสะอาดแนวปะการังอีกต่อไป ทำให้แนวปะการังสกปรก และไม่สามารถเจริญเติบโตได้ใหม่ ส่วนปะการังเก่าก็จะค่อยๆตายลงไป ในที่สุดแนวปะการังก็จะเสื่อมโทรม คงเหลือไว้แค่เพียงภาพถ่ายในอดีตว่ามีเคยสวยงามเพียงใด

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เคยทำร้ายแนวปะการังไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม หรือคุณกำลังจะไปเที่ยวดำน้ำชมปะการัง ก็อยากให้เริ่มคระหนักคิด รวมถึงช่วยรณรงค์เพื่อรักษาแนวปะการังของเราให้ยั่งยืน สืบไป